top of page

น้ำท่วมพม่า ลุ่มสาละวิน-รัฐฉาน ชี้เหตุพม่าปล่อยสัมปทานป่าไม้ ชาวบ้านต้าน EIA ไม่เอาเขื่อนสาละวิน




วันนี้ (5 สิงหาคม 2558) เครือข่ายองค์กรชุมชนในรัฐฉาน พม่าได้ออกแถลงข่าวกรณีน้ำท่วมในรัฐฉานและโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน โดยมีเนื้อหาระบุว่าสืบเนื่องจากการที่ประชาชนชาวรัฐฉานในเมืองกุ๋นเหง และเมืองโต๋นได้ขัดขวางการดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA/SIA) โครงการเขื่อนเมืองโต๋น โดยบริษัทสร้างเขื่อนสัญชาติออสเตรเลีย (Snowy Mountain Engineering-SMEC) ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมายังพบว่าบริษัทดังกล่าวยังมีความพยายามจัดการประชุม EIA/SIA ในเมืองต่างๆ หลายแห่งทางตะวันออกของรัฐฉาน


เครือข่ายฯ ระบุว่าเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ตัวแทนของบริษัทได้ไปเมืองปางซาง เมืองหลวงของกองกำลังว้า ที่ชายแดนพม่า-จีน เพื่อขออนุญาตดำเนินการสำรวจในพื้นที่เขตปกครองพิเศษว้า แต่ผู้นำกองทัพว้า UWSA ได้ตอบปฏิเสธเนื่องจากสถานการณ์ยังไม่แน่นอนและแจ้งให้กลับมาใหม่ใน 2-3 เดือนข้างหน้า คาดว่าสาเหตุเกิดจากความตึงเครียดระหว่างกองกำลังว้า และกองทัพพม่า ซึ่งเป็นสาเหตุของการสู้รบที่เมืองโต๋น ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา”


“เมื่อถูกปฏิเสธการเข้าพื้นที่โยกองกำลังว้า ทำให้ขณะนี้บริษัทSMEC ไม่สามารถที่จะดำเนินการสำรวจในพื้นที่ เขตปกครองว้าตามแนวฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ตามที่วางแผนเอาไว้ในการศึกษาสำหรับเขื่อนเมืองโต๋น อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงดำเนินการสำรวจในเขตเมืองเปียง ทางใต้ของเขตปกครองพิเศษว้า ในสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม บริษัท SMEC ได้เดินทางไปสำรวจในพื้นที่ใกล้วัดหัวลืน ทางเหนือของตาก้อ ฝั่งออกของแม่น้ำสาละวิน หากมีการสร้างเขื่อนเมืองโต๋น พระเจดีย์เก่าแก่ที่มีชื่อเสียง มีอายุกว่า 700 ปีจะจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำ ซึ่งในเดือนมีนาคมของทุกปีจะมีงานประจำปีที่ชาวบ้านในรัฐฉานกว่าหมื่นคนต่าง เดินทางมากราบไหว้




บริษัท SMEC ได้ดำเนินการสำรวจ 4 หมู่บ้านในพื้นที่หัวลืน ได้แก่บ้านหัวนา บ้านเซาะ บ้านโขงจ้าง และ บ้านมน โดยมีการมอบของกำนัล เช่น เสื้อผ้า ขนมและเครื่องดืม ให้กับชาวบ้านที่ให้สัมภาษณ์


นายจายเคอแสง ผู้ประสานงานองค์กรสิ่งแวดล้อมไทใหญ่กล่าวว่าปลายเดือนกรกฎาคม บริษัท SMEC ได้ลงพื้นที่เมืองปูหลวง ทางใต้ของเมืองเปียง เพื่อที่จะดำเนินการศึกษา EIA/SIA ซึ่งเมืองปูหลวงตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเขื่อนเมืองโต๋น และเป็นพื้นที่ราบ หากมีการสร้างเขื่อนเมืองโต๋น เมืองปูหลวงจะถูกน้ำท่วมทันที ในวันที่ 18 กรกฎาคม บริษัท SMEC เรียกประชุมที่วัดบ้านเวียงห่องในเมืองปูหลวง โดยเชิญชาวบ้านหนึ่งคนต่อครัวเรือน ใน 14 หมู่บ้าน ซึ่งมีทั้งชาวไทใหญ่ ลาหู่ และปะหล่อง แต่มีชาวบ้านเพียง 30 คนที่ไปเข้าร่วม ประชุม บริษัทแจ้งชาวบ้านว่าน้ำจะท่วมหากมีการสร้างเขื่อน และบริษัทต้องการไปสำรวจข้อมูลในพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบ นอกจากนี้บริษัทยังได้มอบถุงที่บรรจุขวดเครื่องดื่มและของว่างให้แก่ชาวบ้าน ในที่ประชุม


“ชาวบ้านต่างตื่นตัวหลังจากได้รับข่าว และปฏิเสธมิให้บริษัทข้ามาในหมู่บ้านเพื่อดำเนินการสำรวจ ท้ายที่สุด บริษัท SMEC ได้สำรวจเพียง 4 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 14 หมู่บ้าน หมู่บ้านที่สำรวจแล้วได้แก่เก็งหิน บ้านโต้ง บ้านเวียงห่อง และกุ๋นกอก ส่วนหมู่บ้านที่ไม่ยอมให้ดำเนินการสำรวจได้แก่ บ้านจ๋อมตอง บ้านจาน (บ้านใต้) บ้านเวียงเก่า บ้านเป็งซาง บ้านลอนแก้ว บ้านนาเล บ้านคุ้ม บ้านใหม่ บ้านตากูแล และกุงดิน สองหมู่บ้านสุดท้ายนี้เป็นหมู่บ้านที่อยู่บนริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน” นายจาย กล่าว


ผู้ประสานงานกล่าวว่าเมื่อวันที่ 21 กรกฏคม พรรคการเมืองไทใหญ่ SNLD ได้เปิดสำนักงานในหมู่บ้านเวียงห่อง ในเมืองปูหลวง เย็นวันนั้น ชาวบ้านกว่า 300 คนจากหมู่บ้านต่างๆ ได้เข้าร่วมการฝึกอบรมที่จัดโดย SNLD เมื่อถามว่าชาวบ้านต้องการให้สร้างเขื่อนเมืองโต๋นหรือไม่ ชาวบ้านทั้งหมดมีมติเป็นเอกฉันท์โดยยกมือขึ้นว่าไม่ต้องการเขื่อน บริษัทได้มีการดำเนินการสำรวจในหมู่บ้านสองลัก ห่างจากสะพานตาก้อทางตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน 2 ไมล์


“หากมีการสร้างเขื่อนหมู่บ้านนี้ก็จะจมอยู่ใต้น้ำ การสำรวจของบริษัท ทำได้เพียง 2 ใน 3 จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 120 ครัวเรือน ประมาณ 40 ครัวเรือนปฏิเสธที่จะตอบแบบสอบถาม ในระหว่างทำการสำรวจนั้น เจ้าหน้าที่บริษ SMEC ได้ให้ถุงผ้าที่มีเครื่องดื่มและขนมให้กับครัวเรือนที่ตอบแบบสอบถาม


“ชาวบ้านต่างตกใจกลัวผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เย็นวันนั้น (21 กรกฎาคม) ชาวบ้านราว 80 คนได้รวมตัวกันเพื่อประชุมหารือกันที่วัดสองลัก โดยแสดงจุดยืนต่อต้านเขื่อน และในวันถัดมา (22 กรกฎาคม) กลุ่มชาวบ้านพากันนำของแจกไปคืนแก่บริษัท SMEC และถือป้ายประท้วงเขื่อนด้วย


เมื่อผู้สื่อข่าวถามกรณีน้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของพม่า รวมทั้งรัฐฉาน ในเวลานี้ นายจายเคอแสงเปิดเผยว่าน้ำท่วมครั้งนี้ชาวบ้านในรัฐฉานลำบากมาก ในรอบ 50 ปี ไม่เคยพบเหตุการณ์แบบนี้ “ฝนตกหนักอย่างนี้ คนรุ่นพ่อแม่เรายังไม่เคยเห็นมีน้ำท่วมมาก่อน แต่หลายปีมานี้ เนื่องจากมีการตัดไม้ทำลายป่า สัมปทานไม้ในบริเวณที่จะมีการสร้างเขื่อนสาละวิน ทำให้มีน้ำท่วมเมืองโต๋น และเมืองต่างๆ ที่ใกล้เคียง พวกเราเป็นห่วงวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นวงกว้าง ในรัฐฉานในอนาคต” นายจาย กล่าว


เขื่อนโต๋น (Mong Ton Dam ) เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างบริษัทจีน Three Gorges Three Corporation การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระทรวงพลังงานไฟฟ้าพม่า และบริษัทพม่า International Group of Entrepreneurs โครงการเขื่อนแห่งนี้มีความสูง241 เมตร มีกำลังผลิตติดตั้ง 7,000 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้า 90% ซึ่งจะส่งออกไปยังประเทศไทยหรือประเทศจีน จะเกิดอ่างเก็บน้ำขนาด 640 ตารางกิโลเมตร หรือนับเป็นพื้นที่ 2 ใน 3ของรัฐฉาน

Comments


bottom of page