top of page

ชาวรัฐฉานหลายร้อยแสดงพลังค้านเขื่อนเมืองโต๋น ชี้แม่น้ำสาละวินมีค่า-อย่าเอาไปขาย


เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ที่ พระธาตุเจดีย์โบราณหัวลึง ริมแม่น้ำสาละวิน ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ประชาชนชาวรัฐฉาน จากเขตเมืองกุ๋นฮิง จำนวนหลายร้อยคน ได้ร่วมงานพิธีสวดภาวนาให้กับแม่น้ำสาละวิน เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก 14 มีนาคม (International Day of Action for Rivers) และจัดงานทำบุญเพื่อสืบชะตาพระธาตุหัวลึง ซึ่งเป็นที่มีชื่อเสียงทางประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสาละวินในรัฐฉาน


ชาวบ้านมีทั้งเยาวชน เกษตรกรและพระภิกษุ จากเขตต่างๆ เช่น เขตโหป่าง, ผางลาง, เก็งลม, บ้านโต้ง, สายเมือง, เวียงพุย, บ้านป่าง, บ้านเลา และบ้านผ่าย ได้รวมตัวกันที่แม่น้ำสาละวินที่ท่าหัว


ก้อ โดย ชูป้ายผ้ารณรงค์ให้มีการรักษาสิ่งแวดล้อมและแม่น้ำ และมีการลอยแพที่มีป้ายเขียนข้อความดังกล่าว


จากนั้นทางกลุ่มได้ล่องเรือไปทางเหนือ ไปยังพระธาตุเจดีย์โบราณหัวลึง ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อกว่า 700 ปีที่แล้ว นับเป็นพระธาตุที่มีชื่อเสียง ชาวบ้านเชื่อว่าประตูของพระเจดีย์สามารถเปิดและปิดได้เองเฉพาะในวันพระใหญ่ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสี่ ตามปฏิทินของชาวไทใหญ่ ซึ่งตรงกับเดือนมีนาคมของทุกปี ทางกลุ่มจึงได้ทำบุญให้กับพระเจดีย์และมีการทำพิธีสืบชะตา จากนั้นได้แจกจ่ายใบปลิวให้กับผู้แสวงบุญหลายพันคนจากทั่วประเทศที่เข้าร่วมในงาน


ทั้งนี้พื้นที่ในรัฐฉาน ในเขตเมืองกุ๋นฮิง จะต้องจมอยู่ใต้น้ำ หากมีการสร้างเขื่อนเมืองโต๋น กั้นแม่น้ำสาละวิน และจะท่วมเกาะแก่งหลายพันแห่งในแม่น้ำป๋าง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขา และเป็นที่มาของ


คำว่า “กุ๋นฮิง” ซึ่งแปลว่าเมืองพันเกาะ และพระธาตุโบราณหัวลึง ที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำสาละวินในเขตเมืองเป็ง ก็จะจมน้ำเพราะเขื่อนแห่งนี้ด้วยเช่นกัน


นางเจ็งหนุ่ม หนึ่งในแกนนำผู้จัดกล่าวว่าเรามารวมตัวกันเพื่อสวดภาวนาให้กับแม่น้ำสาละวินอันเป็นที่รักของเรา เพื่อให้แม่น้ำไหลอย่างอย่างอิสระเสรีตลอดกาล เพื่อหล่อเลี้ยงวิถีชีวิต ผืนดิน และมรดกทางวัฒนธรรมของเรา


โครงการเขื่อนเมืองโต๋น เป็นโครงการร่วมระหว่างรัฐบาลพม่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท Three Gorges Corporation จากจีน เขื่อนขนาดใหญ่แห่งนี้จะมีกำลังผลิต 7,000 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่เพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน


“รัฐบาลต้องไม่เอาแม่น้ำที่มีค่าของเราไปขาย” เยาวชนซึ่งร่วมจัดงานคนหนึ่งกล่าว และว่า“ในช่วงที่เกิดวิกฤติด้านสภาวะภูมิอากาศเช่นนี้ เราควรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ แทนที่จะทำลายมันลงไป”




Comments


bottom of page