จดหมายเปิดผนึกถึงประธานสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอให้ตรวจสอบบทบาทของนักวิชาการศูนย์บริการวิชาการ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีการศึกษาเขื่อนสาละวินในพม่า
18 ธันวาคม 2558
เรียน ประธาน สภาจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
เครือ ข่ายชุมชนจัดการทรัพยารลุ่มน้ำสาละวิน ได้รับจดหมายเชิญจากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เข้าร่วมประชุม “ปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมโครงการ ไฟฟ้าพลังน้ำฮัตยีบริเวณชายแดนไทย-พม่า” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันนี้ (18 ธันวาคม 2558) ที่ หอประชุมโรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคาร อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ระหว่างเวลา 8.30-12.30 น โดยระบุว่าเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและประชาสัมพันธ์โครงการ
เครือ ข่ายฯ ได้ติดตามกรณีดังกล่าวมาตลอด มีความเห็นดังนี้
1 การศึกษาผลกระทบ สิ่งแวดล้อมไม่มีมาตรฐานที่จะ ยอมรับได้: โครง การเขื่อนฮัตจี (Hat Gyi Dam) ขนาด1,360 เมกกะวัตต์ ที่จะสร้างบนแม่น้ำสาละวิน ในรัฐกะเหรี่ยง พม่า ตั้งอยู่ห่างจากบ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เพียงราว 47 กิโลเมตร แต่ผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำสาละวินซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ กลับยังไม่มีการศึกษาข้ามพรมแดนอย่างครอบคลุมพอเพียง หลายปีที่ผ่านมาพบว่า ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ ที่รับจ้างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำการศึกษาเพิ่มเติมนั้น มิสามารถลงพื้นที่เพื่อศึกษาได้อย่างแท้จริง ทั้งเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่รัฐชาติพันธุ์ของพม่า โดยเฉพาะในรัฐกะเหรี่ยง ใกล้หัวงานเขื่อน และในฝั่งไทยนั้นก็พบว่าทำการศึกษาเพียง 3 หมู่บ้าน ริมแม่น้ำ ทั้งๆ ที่แม่น้ำสาละวินและผืนป่าสาละวินเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มี ความอุดมสมบูรณ์ ครอบคลุมพื้นที่กว้าง มีลำน้ำสาขาต่างๆ ไหลเชื่อมต่อเป็นจำนวนมากจากทั้งจ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน อาทิ เมย เงา ยวม ปาย และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลก
2 ผลกระทบต่อประชาชน และผู้ลี้ภัย: พื้นที่ ก่อสร้างเขื่อนฮัตจีและบริเวณใกล้เคียง หลายทศวรรษที่ผ่านมาเป็น พื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการ สู้รบในพม่า ส่งผลให้ประชาชนชาติพันธุ์จำนวนหลายหมื่นคนต้องหนีภัยความตาย มาอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวใน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน อ.ท่าสองยาง และอ.แม่ระมาด จ.ตาก และส่วนใหญ่ยังอาศัยอยู่จวบจนปัจจุบัน การเริ่งรัดเดินหน้าโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่สู้รบ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในบริเวณชายแดน ดังที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ทำการตรวจสอบผลกระทบต่อการละเมิด สิทธิมนุษยชน การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงผลกระ ทบทางสังคม
ด้วยสองเหตุผลหลักนี้ เครือข่ายฯ จึงไม่สามารถยอมรับการศึกษาดังกล่าวได้ และเรียกร้องให้สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้กำกับดูแลผู้รับจ้างทำการศึกษา คือ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ ทบทวนบทบาททางวิชาการของสถาบัน และสั่งให้ยุติการดำเนินการศึกษาทันที จนกว่าจะเกิดความสงบในพม่า ที่ประชาชนเจ้าของพื้นที่สามารถคืนกลับสู่ถิ่นฐาน สามารถแสดงความคิดเห็นต่อโครงการที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่ง แวดล้อมและชุมชน และเมื่อนั้นจึงจะสามารถเริ่มกระบวนการพิจารณาทางเลือกในการจัดหา พลังงานให้แก่ประชาชนอย่างรอบด้าน มีส่วนร่วม และโปร่งใส มิใช่การเร่งรัดกระบวนการรับจ้างนี้ให้จบโดยเร็วดังนี้เป็นอยู่
ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำสาละวิน
จ.แม่ฮ่องสอน
Comments