top of page

แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมยและ สาละวิน

วันที่ 14 มีนาคม 2564

ณ. แม่น้ำยวม บ้านสบเงา ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน





เนื่องด้วยวันนี้ วันที่ 14 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันปฏิบัติการเพื่อแม่น้ำสากล พวกเราในนามชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำยวมเพื่อผันน้ำลงสู่เขื่อนภูมิพล ขอแสดงถึงข้อกังวลและปัญหาต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อพวกเราดังนี้


1. เรื่องน้ำท่วมที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน พื้นที่ที่พวกเราอาศัยและที่ทำกิน ส่วนใหญ่อยู่ใกล้แม่น้ำเงา และแม่น้ำยวม ซึ่งรวมไปถึงลำห้วยสาขาของทั้งสองแม่น้ำด้วย ที่ผ่านมาพวกเราแสดงข้อกังวลนี้มาโดยตลอด ทุกเวที แต่ไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าจะมีมาตรการป้องกัน เยียวยาอย่างไร ได้เพียงตอบพวกเราว่ามีมาตรการแล้วและจะบริหารจัดการน้ำไม่ให้กระทบกับชุมชน


2. น้ำอุปโภค-บริโภคของชุมชนใช้ระบบประปาภูเขา ดังนั้นหากดูจากโครงการก่อสร้างนี้แล้วย่อมกระทบถึงต้นน้ำอันเป็นแหล่งอุปโภค-บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่เคยมีการชี้แจงให้ชุมชนแต่อย่างใด

3. หากเกิดความเสียหายต่อที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะชุมชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์และคนที่ยังไม่มีสัญชาติไทย ก็ไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าจะช่วยเหลือเยียวยากรณีนี้อย่างไร


4. เรื่องจุดกองวัสดุหลังจากมีการขุดเจาะอุงโมงค์ ชุมชนยังไม่ทราบแน่ชัดว่ากองดินเหล่านั้นจะใช้พื้นที่กว้างแค่ไหน สูงแค่ไหน และโดยเฉพาะในฤดูฝนจะมีมาตรการในการป้องกันการชะล้างของกองดินเหล่านี้อย่างไร หากเกิดการสไลด์ของดิน และจุดกองดินเหล่านั้นหากกองในพื้นที่ป่า ก็จะทำให้ชุมชนสูญเสียพื้นที่ป่าไปอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ และหากจุดกองดินไปทับกับที่ทำกินชาวบ้านซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็ไม่มีการยืนยันว่าจะมีการชดเชยค่าเสียหายอย่างไร


5. เรื่องการก่อสร้างเขื่อน ไม่มีการพูดถึงเส้นทางที่จะเข้าไปยังจุดสร้างเขื่อนว่าใช้เส้นทางไหน ระหว่างการขนส่งจะก่อให้เกิดผลกระทบอะไรบ้าง และชุมชนระหว่างทางเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็ไม่เคยรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการและไม่ได้เข้าร่วมเวทีประชุม


6. เรื่องการทำแบบประเมินที่ผ่านมามีผู้นำที่เห็นด้วยกับโครงการเป็นผู้ดำเนินการแทนโดยวิธีการที่ใช้คือให้คนประเมินเก็บบัตรประจำตัวประชาชนของสมาชิกชุมชน แล้วเอาไปกรอกเอง และคำตอบในในแบบสำรวจก็ปรากฏว่าเจ้าของบัตรเห็นชอบกับโครงการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะไม่มีการอธิบายให้ชาวบ้านฟังว่าเนื้อหาในแบบสอบถามแต่ละคำถามนั้นถามว่าอย่างไร อีกทั้งยังไม่รู้ว่าข้อมูลที่กรอกลงในแบบสอบถามนั้นตรงตามเจตนารมณ์หรือไม่


7. เรื่องจำนวนชุมชนที่ปรากฏในรายงานโครงการนั้นก็มีแต่ชุมชนหลัก ๆ ที่ปรากฏบนแผนที่ แต่ในบริเวณรอบ ๆ โครงการยังมีอีกหลายชุมชนที่ไม่ปรากฏในรายงาน เพราะชุมชนเหล่านั้นเป็นหย่อมบ้านของบ้านหลักที่ปรากฏในรายงาน


8. เรื่องการใช้ภาษาในที่ประชุม รายชื่อชุมชนที่ปรากฏในรายงานของกรมชล 36 ชุมชน ล้วนแล้วแต่ใช้ภาษาท้องถิ่น คือภาษากะเหรี่ยง ซึ่งมีทั้งกะเหรี่ยงโปว์และกะเหรี่ยงสกอร์ แต่ในการดำเนินการประชุมผู้จัดประชุมใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก ผู้นำชุมชนที่ถูกเชิญเข้าร่วมประชุมอาจสื่อสารภาษาไทยได้ แต่ก็ไม่มีความเข้าใจเนื้อหาเพียงพอที่จะนำมาถ่ายทอดแก่สมาชิกชุมชนต่อได้ และในเวทีปัจฉิมนิเทศโครงการ ผู้เข้าร่วมก็ได้สะท้อนในที่ประชุมแล้วว่าสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องนำเสนอในเวทีนั้นผู้เข้าร่วมไม่เข้าใจ อีกทั้งยังไม่ปรากฏว่ามีการเขียนประเด็นนี้ลงในสรุปรายงาน ทั้ง ๆ ที่เป็นประเด็นสำคัญ


ดังนั้นพวกเราจึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ยุติโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตากโดยทันที


ลงชื่อ…………………………………………..

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมยและ สาละวิน

Comments


bottom of page