เรื่องและภาพ โลมาอิรวดี
เมื่อพม่าเปิดประเทศต้อนรับการลงทุนหลังจากมีการเลือกตั้งเมื่อไม่กี่ปีก่อน บรรดานักลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนจากนานาชาติต่างก็เข้ามาเพื่อหมายมั่นที่จะ “ขุดทอง” จากประเทศที่ยังคงอุดมด้วยทรัพยากรแห่งนี้ รวมทั้งอุตสาหกรรมเขื่อน ซึ่งพม่ามีศักยภาพสูงในการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า เมื่อวันที่ 19-20 มกราคม 2558 กลุ่มธนาคารโลก World Bank Group ได้จัดประชุมว่าด้วยการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าและการเชื่อมโยงในภูมิภาค ในชื่อ Workshop on Sustainable Hydropower and Regional Cooperation ณ กรุงเนปิดอว์ มีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน จากองค์กรระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐของพม่าและประเทศเพื่อนบ้าน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัทเอกชน ธนาคารเอกชน และมีนักวิชาการรวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมสามารถเข้าร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง
ประเด็นไฟฟ้าเป็นเรื่องใหญ่ของพม่าในเวลานี้ เนื่องจากกำลังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องการไฟฟ้ามาใช้ในภาคเมืองและอุตสาหกรรม ในขณะที่ประชาชนในประเทศเข้าถึงไฟฟ้าในระบบสายส่งพียง 1 ใน 3 เท่านั้น และรัฐบาลก็มีแผนที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อส่งขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะจีนและไทย และวางเป้าหมายให้ประชาชนในพม่าสามารถเข้าถึงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ธนาคารโลกระบุว่าพม่ามีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนได้สูงถึง 100,000 เมกกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีที่ตั้งที่อยู่ระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่การที่ยังไม่พัฒนาการผลิตไฟฟ้าและเขื่อนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
U Min Khaing อธิบดีกรมไฟฟ้าพลังน้ำ กระทรวงพลังงานไฟฟ้า นำเสนอข้อมูลว่าพม่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า 302 โครงการ รวม 46,330 เมกกะวัตต์ แต่ระบบไฟฟ้าของพม่าเวลานี้มีกำลังผลิตติดตั้งจากไฟฟ้าพลังน้ำเพียง 3,011 เมกกะวัตต์ และกำลังร่วมมือกับธนาคารโลกในการพัฒนาแผนไฟฟ้าของประเทศเพื่อให้สามารถมีไฟฟ้าใช้ครบภายในปี 2030
นโยบายการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาตินั้น รัฐบาลพม่าเน้นให้เป็นการ “ลงทุนร่วม” Joint Venture ซึ่งรัฐบาลพม่าเรียกร้องหุ้นฟรี 10-15% และเรียกร้องไฟฟ้าฟรี 10-15%
นโยบายนี้ต่างจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่เน้นการสัมปทานระยะยาวโดยภาคเอกชน (BOT) ดังกรณีเขื่อนไซยะบุรีที่ให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนไทยและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ. เป็นเวลา 30 ปี (สัญญาดังกล่าวกำลังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองไทย เนื่องจากเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้ฟ้องร้องกรณีที่กฟผ. ลงนามสัญญาโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและอาจเกิดผลกระทบข้ามพรมแดน)
ในการประชุมครั้งนี้ธนาคารโลกได้นำเสนอแนวคิด “เขื่อนยั่งยืน” ที่ว่าไฟฟ้าพลังน้ำเป็นพลังงานสะอาด มีราคาถูก และพึ่งพิงได้ นอกจากนี้การพัฒนาการเชื่อมโยงไฟฟ้าในภูมิภาคยังทำให้เพื่อนบ้านได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก ส่วนรัฐบาลพม่าเองก็มีรายได้จากการขายไฟฟ้า
น่าสนใจที่การประชุมนี้มีข้อคิดเห็นที่แต่กต่างในแนวทางการพัฒนาไฟฟ้าของพม่า สมาคมพลังงานหมุนเวียน นำเสนอว่าชาวพม่าส่วนใหญ่ที่ขาดแคลนไฟฟ้านั้นอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล อยู่นอกระบบสายส่ง หากรัฐบาลและธนาคารโลกจะมุ่งผลิตไฟฟ้าให้ชาวพม่าเป็นอันดับแรกต้องพัฒนาแหล่งไฟฟ้าขาดเล็กในเมืองและหมู่บ้านต่างๆ ไม่ใช่สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ส่งไฟฟ้าไปขายนอกประเทศ
ประเด็นความขัดแย้งทางการทหารในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ตลอดแนวแม่น้ำสาละวินในรัฐฉาน คะยา รัฐกะเหรี่ยง หรือแม่น้ำอิรวดีในรัฐคะฉิ่น ที่มีการวางแผนสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ก็ถูกนำเสนอในการประชุมนี้เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้
Saw John Bright จากเครือข่ายสิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยง กล่าวว่าพม่ามีบริบททางการเมืองและประวัติศสตร์ที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน จะนำนโยบายแบบสากลของธนาคารโลกมาใช้ง่ายๆ ไม่ได้ “ในพื้นที่ชนชาติพันธุ์ที่มีการสู้รบ อยู่ๆ รัฐบาลจะให้ใครมาสร้างเขื่อน แล้วความเป็นเจ้าของพื้นที่จะเป็นอย่างไร ในเมื่อท่านจะมาเอาทรัพยากรของชาวบ้านไปใช้แบบนี้”
เช่นเดียวกับ Ashley South นักวิจัยจากกลุ่มสันติภาพ Myanmar Peace Support ที่ระบุว่าโครงการเขื่อนในพื้นที่ชาติพันธุ์นั้นนำมาซึ่งความรุนแรงทางการทหาร ซึ่งประสบการณ์หลายทศวรรษที่ผ่านมาประชาชนเจ็บปวดมาตลอด กรณีตัวอย่างคือเขื่อนชเวจิน ที่ก่อสร้างและเริ่มกักเก็บน้ำในปี 2009 โดยไม่มีการปรึกษาหารือกับชาวบ้านในพื้นที่ ส่งผลให้ชาวบ้านในรัฐกะเหรี่ยงต้องหนีน้ำท่วมกันอย่างฉุกละหุกเพราะได้รับแจ้งล่วงหน้าเพียงไม่กี่วัน
“เขื่อน ไม่ใช่คำที่ดีหรือไพเพราะเลยในพม่า ประสบการณ์ของเราโหดร้ายมาก โครงการเขื่อนมิตส่ง กั้นแม่น้ำอิรวดีในรัฐคะฉิ่น ที่แม้ประธานาธิบดีเต็งเส่งจะสั่งระงับชั่วคราวตั้งแต่ปี 2010 แต่ชาวบ้านที่ถูกย้ายออกจากหัวงานเขื่อนก็ไม่สามารถกลับไปหมู่บ้านเก่าได้ ต้องอดอยากดิ้นรนมีชีวิตรอดในแปลงอพยพโดยไม่มีใครเหลียวแลมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว” ผู้เข้าร่วมชาวคะฉิ่นคนหนึ่งกล่าว
“โครงการเขื่อนมิตส่งที่บริษัทจีนกำลังพยายามก่อสร้าง จะทำลายจิตวิญญาณของชาวคะฉิ่นลงอย่างยับเยิน ต้นแม่น้ำอิรวดีที่สองสายน้ำมาบรรจบกัน คือมรดกทางธรรมชาติที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวคะฉิ่น เราไม่มีสิ่งก่อสร้างอย่างมัณฑะเลย์หรือพุกาม แต่เรารักษาแม่น้ำและทรัพยากรธรรมชาติที่นี่ ซึ่งเป็นดวงใจของเรา”
ผู้อำนวยการศูนย์พม่าเพื่อธุรกิจที่รับผิดชอบ Myanmar Center for Responsible Business กล่าวว่าพม่ายังจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานรัฐให้มีความพร้อมต่อการพัฒนาที่เข้ามาถาโถมในขณะนี้ “กระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ก็ยังไม่มีความโปร่งใส หน่วยงานรัฐต้องพัฒนาความสามารถเพื่อที่จะได้รู้ว่าบรรดาบริษัทต่างชาติที่แห่กันเข้ามาเป็นอย่างไร”
อีกหนึ่งประเด็นคำถามที่สำคัญ คือมาตรฐานในการลงทุนจากบริษัทเอกชนต่างชาติ ว่าจะมีมาตรการควบคุมและกำกับดูแลการลงทุนอย่างไรให้มีความรับผิดชอบและเคารพชุมชนดั้งเดิมที่เป็นเจ้าของพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้กำหนดพื้นที่ “ห้ามเข้า” สำหรับเขื่อนและโครงการพัฒนาเนื่องจากยังมีการสู้รบ
หลากหลายคำถามของชาวพม่าที่มีต่อบรรดานักสร้างเขื่อน ทำให้มองเห็นภาพว่า “ไม่ง่าย”นักที่คิดจะเข้าไปฉกฉวยทรัพยากรธรรมชาติของเขามาแปรเปลี่ยนเป็นผลประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงวิถีและวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น
สัญญาณนี้เหล่ารัฐวิสาหกิจ ธนาคาร และบริษัทไทย ที่กำลังเล็งผลเลิศสำหรับโครงการเขื่อนในพม่า น่าจะพึงตระหนักไว้ โดยเฉพาะเขื่อนฮัตจี ของกฟผ. ที่แม่น้ำสาละวิน ห่างจากจ.แม่ฮ่องสอนเพียง 40 กว่ากิโลเมตร และเขื่อนท่าซางหรือมายตง ในรัฐฉาน ซึ่งประชาชนในพื้นที่นับหมื่นได้หนีภัยสงครามมายังประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
โปรดอย่าคิดว่า วิธีการเดิมๆ ลูกไม้เก่าๆ จะใช้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าได้ผลเหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านอีกฟากหนึ่ง
--------------
Comments